วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ผลกระทบต่อโลกเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น

ผลกระทบต่อโลกเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้วิเคราะห์ และคาดว่า ในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ (พ.ศ. ๒๕๗๓) อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น ๑.๕-๓ °ซ. และจะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางดังต่อไปนี้ 

๑. ระดับน้ำทะเลอาจจะขึ้นสูงอีก ๔๐-๑๒๐ เซนติเมตร 




ซึ่งจะมีผลต่อพื้นที่ชายทะเล และกิจกรรมต่างๆ ในบริเวณนั้น เช่น การเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ในป่าชายเลน การท่องเที่ยว เป็นต้น 

ในระหว่างที่โลกมีวิวัฒนาการ น้ำทะเลเคยขึ้นลงเกินกว่า ๑๐๐ เมตรมาแล้ว และในคริสต์ศตวรรษที่ผ่านมาคือ ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษ ที่ ๑๘ เป็นต้นมา ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ ๘-๒๐ เซนติเมตร เชื่อกันว่า เป็นผลจากที่มี ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในบรรยากาศถึงอัตราร้อยละ ๒๐ และการที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ก็เพราะน้ำทะเลขยายตัว เมื่อได้รับความร้อน และน้ำแข็งในแถบขั้วโลกละลายเป็นน้ำ การที่น้ำเค็มรุกล้ำเข้าสู่แม่น้ำลำคลอง น้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำจืดต่างๆ มากขึ้น ย่อมมีผลทำให้ระบบนิเวศปรวนแปร และอาจทำให้เกิดความเสียหายได้หลายประการ 

๒. ทำให้ภูมิอากาศเกิดความปรวนแปร 






จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาพบว่า พายุไซโคลนซึ่งเคยเกิดขึ้น ๓.๑ ครั้ง ในคาบ ๑๐ ปี คือ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๐ (พ.ศ. ๒๔๘๓) และได้เพิ่มเป็น ๑๕ ครั้งใน ค.ศ. ๑๙๘๐ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ดังนั้นจึงเกรงว่า ถ้าอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น จะทำให้ลมมรสุม ในคาบสมุทรเอเชียแปซิฟิกเพิ่มกำลังแรงมากขึ้น และจะพัดเลยขึ้นเหนือไป ทำให้ฝนไปตกในท้องถิ่นกันดาร และในทางตรงกันข้าม จะทำให้เกิดความแห้งแล้งในที่ที่ มีฝนตกชุก ตลอดจนจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันขึ้นในบางแห่ง บางแห่งจะเกิดปัญหาน้ำเซาะดินพังทลายลง และตะกอนซึ่งมากับน้ำขุ่นตามทางน้ำ ก็จะทำให้แหล่งน้ำตื้นเขินด้วย 

๓. แหล่งน้ำใช้ในการชลประทานจะผันแปรไปด้วย 

จากการคาดคะเนหากว่า อุณหภูมิของโลกเพิ่ม ๑.๕-๔.๕ องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗-๑๕ ทั่วโลก แต่มิได้กระจายไปทุกแห่งอย่างทั่วถึง ในแหล่งที่มีน้ำมาก และที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นนั้น พืชก็อาจจะเร่งการสังเคราะห์แสงขึ้น ดังนั้นจึงต้องใช้น้ำมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และจำเป็นต้องมีการจัดสรรน้ำ เพื่อการชลประทานเป็นพิเศษกว่าเดิมด้วย 

๔. ต้องพัฒนาและปรับปรุงการเกษตรกรรม
 

ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งอาจจะต้องแสวงหาพืชพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพของสิ่งแวดล้อม มีการวางแผนการเพาะปลูก และการจำหน่ายที่มีคุณภาพ มิฉะนั้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ในสภาวะปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

๕. แหล่งพลังงานได้รับผลกระทบ
 



เนื่องจากการปรวนแปรของภูมิอากาศ เช่น การเกิดลมมรสุมต่างๆ อย่างรุนแรง เคยทำให้เรือขุดเจาะน้ำมันคว่ำ เกิดการเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน ตลอดจนขัดขวางการแสวงหาแหล่งพลังงาน ใหม่ๆ การผลิตไฟฟ้า ด้วยพลังน้ำ พลังลม และพลังนิวเคลียร์ ก็อยู่ในข่ายที่จะได้รับผลกระทบ จากความแปรปรวนทางภูมิอากาศด้วยเช่นกัน

ที่มา http://kanchanapisek.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น